ประวัติศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก

          เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2479 กิจการอุตุนิยมวิทยาได้เริ่มมีเป็นหลักแหล่งในฐานะกองอยู่ในสังกัดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ อีก 5 ปีต่อมาโครงสร้างในการขยายกิ่งก้านสาขาคือ สถานีตรวจอากาศชายทะเล จึงได้มีการปรับปรุงหลักฐานให้มั่นคงขึ้น ทั้งนี้เป็นผลงานของเรือเอกจรูญ วิชยาภัย บุนนาค(ปัจจุบันยศพลเรือโท อดีตเจ้ากรมและอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา)

          ต่อมากิจการอุตุนิยมวิทยาได้รับการขยายงานออกสู่ภูมิภาคจากหมวดสถานีอากาศ  กองอุตุนิยมวิทยาในพระราชวังเดิมธนบุรี  และแห่งหนึ่งที่ได้รับการจัดขึ้นตามแผนนี้คือที่วังเขียว ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 เรียกว่า “สถานีตรวจอากาศสงขลา” ต่อมากิจการของกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ในปี พ.ศ.2496 สถานีตรวจอากาศสงขลาได้เปลี่ยนสถานะเป็น“สถานีพยากรณ์อากาศสงขลา”  ซึ่งสถานีพยากรณ์อากาศสงขลาเป็นแห่งเดียวที่ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งขึ้นในภาคใต้ขณะนั้น โดยสังกัดกองพยากรณ์อากาศ ต่อมาในปีพ.ศ.2505 กรมอุตุนิยมวิทยาได้โอนกิจการกิจการกรมอุตุนิยมวิทยาจากกองทัพเรือไปสังกัดสำนักนายกรัฐมลตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2506 และได้มีการจัดระบบงานแบ่งส่วนราชการขึ้นใหม่ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2506 สถานีพยากรณ์อากาศสงขลา ได้รับการพัฒนายกฐานะขึ้นเป็น “กอง” กองหนึ่งใน 13 กองของกรมอุตุนิยมวิทยา  โดยมีชื่อว่า “กองพยากรณ์อากาศภาคใต้” และในปี พ.ศ.2515  กองพยากรณ์อากาศภาคใต้ก็ได้รับมอบที่ดินจำนวน 25 ไร่เศษ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน เพื่อใช่ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และเมื่อวันที่
1 ตุลาคม  2515 กรมอุตุนิยมวิทยาได้โอนกิจการจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาสังกัดกระทรวงคมนาคม

          ในปี  พ.ศ. 2517  ได้มีการจำแนกตำแหน่งของส่วนราชการทั่วประเทศ สำนักงาน ก.พ.จึงได้มีการยุบกองพยากรณ์อากาศภาคต่างๆ ลงมาเป็นศูนย์พยากรณ์ภาค สังกัดกองพยากรณ์อากาศเหมือนเดิม โดยกองพยากรณ์อากาศภาคใต้ได้เปลี่ยนเป็น “ศูนย์พยากรณ์อากาศภาคใต้” หลังจากนั้นกิจการทางอุตุนิยมวิทยาของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคต่างๆ ได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2531 เป็น “ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก” แต่ยังคงขึ้นตรงต่อกองพยากรณ์อากาศ  และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์  2535  ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคต่างๆ ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นระดับกองอีกครั้งหนึ่ง  โดยขึ้นตรงต่อกรมอุตุนิยมวิทยา

          ปัจุจบันศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฐานะเทียบเท่าสำนักหนึ่ง โดยขึ้นตรงต่อกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศราฐกิจและสังคม มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช พัทลุง  สงขลา ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส รวมทั้งพื้นที่ใน
อ่าวไทย


 

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีการใช้คุกกี้

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกต่อการใช้งาน คุณสามารถอ่านนโยบายนี้เพิ่มเติมได้ที่ นโยบายคุกกี้